ศูนย์โรคเอดส์ประจำภูมิภาคชูโงะคุและชิโกะคุ
สำหรับบุคคลทั่วไปและผู้ป่วย

ระบบสวัสดิการสังคม

เกี่ยวกับระบบประกันการดูแลระยะยาว

ปัจจุบันมีระบบประกันการดูแลระยะยาวประเภทใดบ้าง

ระบบนี้เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงวัยที่ต้องการการดูแลพยาบาลได้สามารถใช้บริการดูแลสุขภาพและบริการสวัสดิการต่างๆ ที่จำเป็นได้แบบครอบคลุม เพื่อจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นอิสระ ระบบนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของเทศบาลท้องถิ่นต่างๆ ทุกท่านที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปมีสิทธิเข้าระบบประกันการดูแลระยะยาวนี้ได้ ทั้งนี้ จะแบ่งผู้มีประกันออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 1 (อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) และ ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 2 (อายุระหว่าง 40 ถึง 64 ปี)

มีการกำหนดเบี้ยประกันการดูแลระยะยาวไว้อย่างไรบ้าง

วิธีการจ่ายเบี้ยและผู้รับชำระค่าเบี้ยมีความแตกต่างกันระหว่างผู้รับการประกันกลุ่มที่ 1 และ ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 2 (แผนภูมิ 1)

[แผนภูมิ 1] สิทธิและเบี้ยประกันการดูแลระยะยาว
ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 1
บุคคลที่มีสิทธิ ทุกท่านที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
ผู้รับชำระค่าเบี้ย เทศบาลที่ทะเบียนพักอาศัยตั้งอยู่
ยอดเบี้ยประกัน เทศบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งจะกำหนดค่าเบี้ยพื้นฐานไว้ ซึ่งจะแตกต่างในแง่รูปแบบระยะการดูแล ตามเงินได้บุคคล
วิธีการชำระเบี้ย

ปัจจุบัน สามารถชำระได้ 2 วิธี คือ เรียกเก็บแบบธรรมดา และเรียกเก็บแบบพิเศษ

  • การเรียกเก็บแบบธรรมดา: บุคคลที่มีผลประโยชน์บำนาญต่อปีน้อยกว่า 180,000 เยน และบุคคลที่ไม่ได้รับผลประโยชน์บำนาญ จะต้องชำระเบี้ยเป็นรายคนแก่เทศบาล
  • การเรียบเก็บแบบพิเศษ: ผู้รับเงินบำนาญที่มีผลประโยชน์บำนาญต่อปีตั้งแต่ 180,000 เยนขึ้นไป (ตั้งแต่ 15,000 เยนต่อเดือน) จะถูกหักอัตโนมัติจากผลประโยชน์บำนาญของตน
ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 2
บุคคลที่มีสิทธิ บุคคลที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 64 ปี และมีประกันสุขภาพ
ผู้รับชำระค่าเบี้ย หน่วยงานประกันสุขภาพที่ให้การประกันบุคคล (ตามที่ระบุไว้ที่ด้านล่างของบัตรประกันสุขภาพ)
ยอดเบี้ยประกัน วิธีการคำนวณและยอดเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปขึ้นกับหน่วยงานประกันสุขภาพ (*1) ที่ให้การประกันบุคคลนั้นๆ
วิธีการชำระเบี้ย เบี้ยประกันการดูแลระยะยาวจะถูกเพิ่มเข้าไปในเบี้ยประกันสุขภาพ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บเป็นเบี้ยประกันรักษาพยาบาล

(*1) เกี่ยวกับเบี้ยประกันการดูแลระยะยาวสำหรับผู้รับการประกันกลุ่มที่ 2

  • กรณีของผู้รับการประกันภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ: ยอดเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปขึ้นกับเงินได้และฐานะทางครอบครัว เบี้ยประกันจะชำระเป็นครัวเรือน โดยหัวหน้าครอบครัวจะชำระค่าเบี้ยให้แก่สมาชิกทุกคนในครอบครัว
  • กรณีของผู้รับการประกันภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งรัฐและสมาคมช่วยเหลือกันและกัน: ยอดเบี้ยประกันจะแตกต่างกันตามเงินเดือน (ค่าตอบแทนมาตรฐานรายเดือน) โดยนายจ้างจะรับผิดชอบค่าเบี้ยประกันให้กึ่งหนึ่ง

บุคคลประเภทใดบ้างที่สามารถใช้บริการต่างๆ ภายใต้ระบบประกันการดูแลระยะยาวได้

เทศบาลแต่ละแห่งที่ผู้มีสิทธิใช้บริการเหล่านี้อาศัยอยู่จะดำเนินการคัดกรองการดูแลพยาบาล: ในบรรดาบุคคลที่ได้รับการประกันการดูแลระยะยาว บุคคลใดที่ได้รับการรับรองว่า "จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ" ภายใต้การคัดกรองดังกล่าวให้ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิเข้าใช้บริการต่างๆ นี้ สำหรับเงื่อนไขการใช้บริการดูแลรักษาพยาบาลจะแตกต่างกันระหว่างผู้รับการประกันกลุ่มที่ 1 และ ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 2

[แผนภูมิ 2] บุคคลเป้าหมายในบริการต่างๆ แยกตามประเภทผู้รับการประกัน
ประเภทของผู้รับการประกัน บุคคลเป้าหมายในบริการต่างๆ
ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 1 (อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป)

เทศบาลแต่ละแห่งที่ผู้มีสิทธิ์ใช้บริการอาศัยอยู่จะดำเนินการคัดกรองการดูแลพยาบาล บุคคลที่ได้รับการรับรองว่า "จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว (1-5)" สามารถใช้ "บริการดูแลพยาบาล"นี้ได้

ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 2
(อายุระหว่าง 40 ถึง 64 ปี)

กรณีที่บุคคลสูญเสียสภาวะบางอย่างและจำเป็นต้องได้รับการดูแลพยาบาลอันเกี่ยวเนื่องกับ โรค (จำเพาะ) บางอย่างที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น และเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองว่า "จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว (1-5)", บุคคลเหล่านี้สามารถใช้ "บริการการดูแลระยะยาว" นี้ได้

เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการได้รับการดูแลระยะยาวประกอบด้วยอะไรบ้าง

คำว่า บุคคลที่มีสิทธิ ในที่นี้ มีความหมายดังต่อไปนี้ "บุคคลที่เผชิญกับความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ จนส่งผลให้จำเป็นต้องได้รับการดูแลพยาบาลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สำหรับเรื่องพื้นฐานบางอย่างหรือทั้งหมดในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึง การอาบน้ำ การถ่ายปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ และการรับประทานอาหาร และบุคคลที่เข้าข่ายข้อหนึ่งข้อใด (ต้องการการดูแลระยะยาว 1-5) ในหมวดหมู่ที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ตามแต่ระดับการดูแลรายบุคคล"

เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการได้รับการช่วยเหลือในที่นี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง

คำว่า บุคคลที่มีสิทธิ ในที่นี้ มีความหมายดังต่อไปนี้ "บุคคลที่เผชิญกับความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ จนส่งผลให้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาอาการหรือสภาวะต่างๆ หรือเพื่อป้องกันอาการหรือสภาวะต่างๆ ทรุดลง เป็นความต้องการการดูแลพยาบาลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สำหรับเรื่องพื้นฐานบางอย่างหรือทั้งหมดในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึง การอาบน้ำ การถ่ายปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ และการรับประทานอาหาร" หรือ "บุคคลที่เผชิญกับความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ และอาจเผชิญอุปสรรคในการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่อง และเข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ (ต้องการการช่วยเหลือ) โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ตามแต่ระดับการให้ความช่วยเหลือ"

โรคใดบ้างที่จัดว่าเป็นโรคจำเพาะ

16 โรคดังต่อไปนี้ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ และมาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้นถือเป็นโรคจำเพาะ กรณีที่ผู้รับการประกันกลุ่มที่ 2 (อายุระหว่าง 40 ถึง 64 ปี) เป็นโรคจำเพาะดังต่อไปนี้ และได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว (หรือได้รับการช่วยเหลือ) บุคคลเหล่านี้สามารถใช้บริการการดูแลระยะยาว (หรือบริการการดูแลเชิงป้องกัน) ได้

รายชื่อโรคจำเพาะ (16 โรค)
  • มะเร็งระยะสุดท้าย (อ้างอิงความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยสำหรับบางคนที่หมดโอกาสหายดีแล้ว)
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือ ALS)
  • การหนาตัวและเกิดหินปูนในเส้นเอ็นแนวยาวหลังกระดูกสันหลัง (Ossification of Posterior Longitudinal Ligament หรือ OPLL)
  • โรคกระดูกพรุนตามด้วยกระดูกแตก
  • ภาวะสมองเสื่อมในวัยกลางคน (รวมถึง โรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง)
  • โรคก้านสมองเสื่อม (Progressive Supranuclear Palsy หรือ PSP) ภาวะฐานของเปลือกสมองเสื่อม (Corticobasal degeneration หรือ CBD) และโรคพาร์กินสัน
  • โรคไขสันหลังและสมองน้อยฝ่อ
  • โรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • โรคชราในเด็ก
  • โรคที่มีการฝ่อหลายระบบของสมอง
  • โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน โรคไตจากเบาหวาน และเบาหวานขึ้นจอตา
  • โรคของหลอดเลือดสมอง
  • โรคหลอดเลือดแดงอุดตันเรื้อรัง
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อมตามวิกลรูปของทั้งข้อเข่าและข้อต่อสะโพก

ในการใช้บริการเหล่านี้ จำเป็นต้องมีขั้นตอนการสมัครอย่างไรบ้าง

อันดับแรก ต้องยื่นเรื่องขอการรับรองความจำเป็นในการรับการดูแลระยะยาวที่เทศบาลท้องถิ่นของท่านก่อน จากนั้น เมื่อผ่านการรับรองแล้วว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาวหรือจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ท่านจะสามารถเข้าใช้บริการต่างๆ นี้ได้ โดยจำเป็นต้องดำเนินตามขั้นตอนที่ 1 ถึง 5 (ดังอธิบายไว้ด้านล่างนี้) อย่างครบถ้วน

ขั้นตอนที่ 1 ยื่นเรื่องขอการรับรองความจำเป็นในการรับการดูแลระยะยาว

บุคคลที่ยื่นเรื่องขอการรับรองความจำเป็นในการรับการดูแลระยะยาว ณ เคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาวของเทศบาลในพื้นที่อาศัยของตน เนื่องจากบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะได้รับบัตรประกันการดูแลระยะยาว บุคคลกลุ่มนี้จำเป็นต้องแสดงบัตรดังกล่าวที่เคาน์เตอร์ด้วย และผู้ขอใช้สิทธิ์สามารถยื่นเรื่องนี้ได้ด้วยตนเอง หรืออาจให้สมาชิกในครอบครัว หรือ หน่วยงาน เช่น ภาคธุรกิจที่ให้การดูแลตามบ้าน หน่วยบริการดูแลระยะยาว หรือ นย์ช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จระดับชุมชน กระทำการยื่นเรื่องนี้แทนได้

ขั้นตอนที่ 2 การคัดกรองที่บ้านและการยื่นเอกสารแสดงความเห็นจากแพทย์ที่เข้าร่วม

หลังการยื่นเรื่อง ผู้ตรวจสอบจะเดินทางไปที่บ้านของผู้ยื่นเรื่อง เพื่อเยี่ยมเยือน และซักถามเรื่องๆ เพื่อประเมินสภาวะทางจิตใจและร่างกายของผู้ยื่นเรื่อง ตลอดจน เพื่อยืนยันระดับการได้รับการดูแลที่จำเป็น นอกจากนี้ จำเป็นต้องยื่นเอกสารแสดงความเห็นจากแพทย์ที่เข้าร่วมในการนี้ด้วย คณะกรรมการอนุมัติการดูแลระยะยาวจะรับเอกสารมาและพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับสภาวะของผู้ยื่นเรื่องว่า ผู้ยื่นเรื่องจำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาวหรือจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ กรณีที่ตัดสินว่า จำเป็น จะต้องประเมินระดับการดูแลที่จำเป็นนั้นด้วย โดยอ้างอิงผลการคัดกรองที่บ้านและเอกสารแสดงความเห็นจากแพทย์ที่เข้าร่วมเป็นสำคัญ

ขั้นตอนที่ 3 การแจ้งผลการรับรอง

ภายใน 30 วันหลังการยื่นเรื่อง ทางเทศบาลจะจัดส่งหนังสือแจ้งผลไปให้ โดยหนังสือนี้จะระบุถึงระดับการรับรองดูแล ระยะเวลาที่การรับรองนี้มีผลบังคับใช้ และวงเงินค่าบริการดูแลต่อเดือนตามระดับการรับรองนั้น ในการรับรองการดูแลระยะยาวนี้แบ่งเป็น 3 ระดับ (แผนภูมิ 3) การรับรองนี้จะมีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ยื่นเรื่องขอการรับรอง กรณีที่ผู้ยื่นเรื่องไม่พอใจในผลการแจ้งนี้ สามารถอุทธรณ์ไปยัง "คณะกรรมระบบประกันการดูแลระยะยาว ส่วนงานการทบทวนผลพิจารณา” เพื่อขอการพิจารณาอีกครั้งได้

[แผนภูมิ 3] ระดับการรับรองและบริการต่างๆ ที่มีอยู่
ระดับการดูแล 1-5 บุคคลสามารถใช้ บริการการดูแลระยะยาว (สิทธิประโยชน์ด้านการดูแล) ได้
ระดับการช่วยเหลือ 1-2 บุคคลสามารถใช้ บริการการดูแลเชิงป้องกัน (สิทธิผลประโยชน์ด้านการป้องกัน)
ไม่เข้าข่าย บุคคลไม่สามารถใช้บริการการดูแลระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงวัยที่ได้รับการพิจารณาว่า "มีแนวโน้มอย่างมากที่ต้องได้รับการดูแลระยะยาว" จากการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานและในโอกาสอื่นๆ สามารถใช้โปรแกรมต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อจะไม่ต้องรับการดูแลที่จำเป็นนั้น (โปรแกรมการช่วยเหลือระดับชุมชน)
ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดแผนบริการการดูแลระยะยาว (แผนการดูแล)

ก่อนเริ่มต้นบริการต่างๆ จะต้องมีการวางแผนบริการการดูแลระยะยาว (แผนการดูแล) และแผนการดูแลเชิงป้องกันที่เหมาะสมกับวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละคนก่อน โดยอ้างอิงข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมา (แผนภูมิ 4)

[แผนภูมิ 4] การกำหนดแผนตามระดับการรับรอง
ระดับการดูแล 1-5 ผู้ป่วยต้องวางแผนการใช้บริการการดูแลระยะยาว (แผนการดูแล) ร่วมกันกับบุคคลต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือดูแลภายในบ้าน (Care manager) การวางแผนการดูแลนี้ไม่ต้องเสียค่าบริการแต่อย่างใด ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยสามารถวางแผนการดูแลของตนเองขึ้นเองได้
ระดับการช่วยเหลือ 1-2 โปรแกรมบริการการดูแลเชิงป้องกันจะถูกกำหนดขึ้น ณ ศูนย์ช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จระดับชุมชน นอกจากนี้ ในการวางโปรแกรมใช้บริการนี้จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ขั้นตอนที่ 5 การใช้บริการ

ผู้ป่วยจะลงนามทำสัญญากับภาคธุรกิจที่ให้บริการการดูแลระยะยาวซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้น จะสามารถเริ่มใช้บริการต่างๆ ได้ โดยอ้างอิงแผนการดูแลที่จัดทำขึ้นตามข้างต้น

มีบริการแบบใดบ้าง ภายใต้ระบบประกันการดูแลระยะยาว

บริการต่างๆ ภายใต้ระบบประกันการดูแลระยะยาวจะแตกต่างกันไปตามบุคคลที่ได้รับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแล (1-5) และบุคคลที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ (1-2) แผนภูมิ 5 (ดังด้านล่างนี้) ได้แสดงให้เห็นภาพอย่างง่ายเกี่ยวกับบริการต่างๆ ที่มีสำหรับบุคคลที่ได้รับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแล (1-5)

[แผนภูมิ 5] บริการด้านผลประโยชน์การดูแลสำหรับบุคคลที่ได้รับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแล (1-5)
บริการเยี่ยมเยือนตามบ้าน
  • การดูแลที่บ้าน (การช่วยเหลือที่บ้าน)
  • การให้การพยาบาลที่บ้าน
  • การดูแลการอาบน้ำที่บ้าน
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน
บริการต่างๆ ที่มีในสถานการดูแลระหว่างวัน
  • บริการระหว่างวัน
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพ (การดูแลระหว่างวัน)
บริการตามบ้านแบบอื่นๆ
  • ข้อแนะนำในการบริหารจัดการการรักษาพยาบาลที่บ้าน
  • การจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อการปรับปรุงบ้าน (ต้องยื่นเรื่องขอการจัดสรร ก่อนเริ่มสร้างจริง)
  • ค่าเช่าอุปกรณ์สวัสดิการ (*กรุณาอ้างอิงหมายเหตุ)
  • การจำหน่ายอุปกรณ์สวัสดิการที่กำหนดไว้ (จำหน่ายโดยภาคธุรกิจที่ได้รับการแต่งตั้งไว้เท่านั้น)
บริการต่างๆ ที่มีชุมชนเป็นฐาน
  • การดูแลระยะยาว การเยี่ยมเยือนตามบ้านในเวลากลางคืน
  • บริการระหว่างวันสำหรับบุคคลที่มีภาวะสมองเสื่อม
  • การดูแลระยะยาวที่บ้าน สำหรับความผิดปกติขนาดเล็ก
  • การดูแลแบบกลุ่มเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับบุคคลที่มีภาวะสมองเสื่อม (กลุ่มบ้าน)
  • การดูแลด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน ณ บ้านพักพิเศษที่มีชุมชนเป็นฐาน เพื่อผู้สูงวัย
บริการพำนักระยะสั้น
  • บริการด้านการดำเนินชีวิตประจำวันแบบพำนักระยะสั้น
  • บริการทางการแพทย์แบบพำนักระยะสั้น
บริการต่างๆ ภายในศูนย์
  • สถานสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว (บ้านพักพิเศษเพื่อผู้สูงวัย)
  • สถานดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว (สถานดูแลสุขภาพเพื่อผู้สูงวัย)
  • สถานดูแลทางการแพทย์แบบสถานพักฟื้นผู้ป่วยเรื้อรังสำหรับผู้สูงวัยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว (เตียงระยะยาว คลินิก การพยาบาล และบ้านพัก)

(*หมายเหตุ) มีกฎขั้นพื้นฐานที่ระบุว่า บุคคลที่ผ่านการรับรองว่าเป็นบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลระดับ 1 จะไม่สามารถใช้บางรายการได้ เช่น รถเข็นวีลแชร์ อุปกรณ์เสริมในรถเข็นวีลแชร์ เตียงพิเศษ อุปกรณ์เสริมเตียงพิเศษ อุปกรณ์ป้องกันการเกิดแผลกดทับ อุปกรณ์ช่วยเปลี่ยนตำแหน่ง อุปกรณ์ตรวจจับการเดินออกนอกเส้นทางของผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือลิฟต์เคลื่อนย้าย ซึ่งอยู่ในรายการอุปกรณ์สวัสดิการที่ระบุว่าสามารถเช่ายืมได้
อย่างไรก็ตาม บุคคลจะได้รับอนุญาตให้ใช้รายการดังกล่าว หากสภาวะของบุคคลนั้นบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องใช้รายการดังกล่าว กรุณาตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือดูแลภายในบ้าน (Care manager)

ปัจจุบันมีบริการประเภทใดบ้างภายใต้บริการการดูแลเชิงป้องกัน

บุคคลที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ (1-2) สามารถใช้บริการการดูแลเชิงป้องกันที่ปรากฎรายการในแผนภูมิ 6 ได้ ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ (1-2) จะไม่สามารถใช้บริการต่างๆ ภายในศูนย์ (เช่น บ้านพักพิเศษเพื่อผู้สูงวัย หรือสถานดูแลสุขภาพเพื่อผู้สูงวัย) ภายใต้ระบบประกันการดูแลระยะยาวได้

[แผนภูมิ 6] บริการการดูแลเชิงป้องกันที่บุคคลที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ (1-2) สามารถใช้ได้
บริการเยี่ยมเยือนตามบ้าน
  • การเยี่ยมเยือนตามบ้าน การดูแลเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน (การช่วยเหลือที่บ้าน)
  • การเยี่ยมเยือนตามบ้าน การพยาบาลเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
  • การเยี่ยมเยือนตามบ้าน การช่วยอาบน้ำเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
  • การเยี่ยมเยือนตามบ้าน การฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
บริการต่างๆ ที่มีในสถานการดูแลระหว่างวัน
  • การดูแลระหว่างวันเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
  • บริการฟื้นฟูสมรรถภาพระหว่างวันเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
บริการตามบ้านแบบอื่นๆ
  • ข้อแนะนำในการบริหารจัดการการดูแลทางการแพทย์ที่บ้านเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
  • ค่าเช่าอุปกรณ์สวัสดิการเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน (*กรุณาอ้างอิงหมายเหตุ)
  • การจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อการปรับปรุงบ้าน (ต้องยื่นเรื่องขอการจัดสรร ก่อนเริ่มสร้างจริง)
  • การจำหน่ายอุปกรณ์สวัสดิการเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน (จำหน่ายโดยภาคธุรกิจที่ได้รับการแต่งตั้งไว้เท่านั้น)
บริการต่างๆ ที่มีชุมชนเป็นฐาน
  • บริการระหว่างวันสำหรับบุคคลที่มีภาวะสมองเสื่อมเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
  • การดูแลตามที่บ้านเพื่อการดูแลเชิงป้องกัน สำหรับความผิดปกติขนาดเล็ก
  • การดูแลแบบกลุ่มเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม (ให้บริการจำเพาะบุคคลที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือระดับ 2)
บริการพำนักระยะสั้น
  • บริการด้านการดำเนินชีวิตประจำวันแบบพำนักระยะสั้น เพื่อการดูแลเชิงป้องกัน
  • บริการทางการแพทย์แบบพำนักระยะสั้น เพื่อการดูแลเชิงป้องกัน

(*หมายเหตุ) มีกฎขั้นพื้นฐานที่ระบุว่า บุคคลที่ผ่านการรับรองว่าเป็นบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือระดับ (1-2) จะไม่สามารถใช้บางรายการได้ เช่น รถเข็นวีลแชร์ อุปกรณ์เสริมในรถเข็นวีลแชร์ เตียงพิเศษ อุปกรณ์เสริมเตียงพิเศษ อุปกรณ์ป้องกันการเกิดแผลกดทับ อุปกรณ์ช่วยเปลี่ยนตำแหน่ง อุปกรณ์ตรวจจับการเดินออกนอกเส้นทางของผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือลิฟต์เคลื่อนย้าย ซึ่งอยู่ในรายการอุปกรณ์สวัสดิการที่ระบุว่าสามารถเช่ายืมได้ อย่างไรก็ตาม บุคคลจะได้รับอนุญาตให้ใช้รายการดังกล่าว หากสภาวะของบุคคลนั้นบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องใช้รายการดังกล่าว กรุณาตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือดูแลภายในบ้าน (Care manager)

ยอดชำระร่วมสำหรับบริการเหล่านี้อยู่ที่เท่าใด

บุคคลใดก็ตามที่ใช้บริการต่างๆ ภายใต้ระบบประกันการดูแลระยะยาว โดยหลัก จะต้องชำระเงินคิดเป็นร้อยละ 10 สำหรับค่าบริการนั้นๆ ส่วนวงเงินสูงสุดของค่าบริการที่สามารถใช้ได้ในช่วง 1 เดือนภายใต้ระบบประกันการดูแลระยะยาวจะกำหนดตามประเภทของบริการที่ใช้และตามระดับความจำเป็นในการดูแล นอกจากนี้ หากยอดการใช้บริการต่างๆ ภายใต้ระบบประกันการดูแลระยะยาวเกินกว่าวงเงินสูงสุดที่กำหนดไว้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องชำระเป็นยอดเต็มของจำนวนเงินที่เกินจากวงเงินดังกล่าวด้วยตนเอง

กรณีที่ผู้ป่วยใช้บริการต่างๆ โดยไม่มีกแผนการใช้บริการดูแล (แผนการดูแล)

ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นไปก่อน และหลังจากนั้น หากยื่นเรื่องไปยังเทศบาลที่รับผิดชอบ สามารถเบิกคืนได้เป็นจำนวนเงินที่เทียบเท่ากับร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

กรณีที่ยอดชำระร่วมจากการใช้บริการนั้นที่ร้อยละ 10 ยังเกินกว่ายอดที่กำหนดไว้ต่อเดือนสำหรับผู้ป่วย

วงเงินชำระร่วมต่อเดือนสำหรับผู้ป่วยจะกำหนดตามเงินได้ของครัวเรือนนั้น กรณีที่ยอดชำระของผู้ป่วยเกินกว่าวงเงินดังกล่าว สามารถขอคืนยอดที่เกินมานั้นเป็น “ค่าบริการดูแลระยะยาวที่มีอัตราสูง” ได้ หลังจากดำเนินการยื่นเรื่องยังเคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาว อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นการชำระเพื่อซื้ออุปกรณ์สวัสดิการและ/หรือค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้าน โดยจ่ายเป็นค่าบ้านและค่าอาหาร สำหรับผู้ป่วยที่รับบริการภายในศูนย์ และมีการชำระร่วมเกินวงเงินสิทธิประโยชน์บริการนั้น การชำระเงินดังกล่าวจะไม่ครอบคลุมเงื่อนไขการขอคืนค่าบริการดูแลระยะเวลาที่มีอัตราสูง

กรณีที่ผู้ป่วยจะใช้บริการต่างๆ ที่มีในศูนย์

จำเป็นต้องมีค่าอาหารและค่าบ้าน นอกเหนือจากยอดชำระร่วมร้อยละ 10 สำหรับบริการต่างๆ

กรณีที่ผู้ป่วยจะซื้ออุปกรณ์สวัสดิการ

ผู้ป่วยจำเป็นต้องยื่นเรื่องที่เคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาว ณ เทศบาลท้องถิ่นของตน ก่อนจะซื้อมา ทั้งนี้ ยอดเงินสูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับจากระบบประกันการดูแลระยะยาวต่อปีกำหนดไว้ที่ 100,000 เยน โดยในวงเงินนี้จะมียอดที่ผู้ป่วยต้องร่วมชำระด้วยคิดเป็นร้อยละ 10 ของวงเงินนี้ ในทางปฏิบัติผู้ป่วยจำเป็นต้องชำระยอดทั้งหมดแก่ภาคธุรกิจที่จำหน่ายอุปกรณ์นั้นไปก่อน หลังจากนั้น สามารถเบิกคืนร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ กรุณาขอคำแนะนำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือดูแล (Care manager) หรือเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาว

กรณีที่ผู้ป่วยจะปรับปรุงบ้านของตน

ก่อนเริ่มต้นดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุง ผู้ป่วยจำเป็นต้องยื่นเรื่อง ณ เคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาวในเทศบาลที่รับผิดชอบ ยอดเงินสูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับจากระบบประกันการดูแลระยะยาวต่อปีกำหนดไว้ที่ 200,000 เยน โดยในวงเงินนี้จะมียอดที่ผู้ป่วยต้องร่วมชำระด้วยคิดเป็นร้อยละ 10 ของวงเงินนี้ ในทางปฏิบัติผู้ป่วยจำเป็นต้องชำระยอดทั้งหมดแก่ภาคธุรกิจ หลังจากนั้น สามารถเบิกคืนร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ กรุณาขอคำแนะนำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือดูแล (Care manager) หรือเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาว

ผู้ป่วยสามารถลดค่าใช้จ่ายจากบริการต่างๆ ได้หรือไม่

ขึ้นกับสถานการณ์ในเวลานั้น บางครั้ง ผู้ป่วยสามารถใช้ประโยชน์จากระบบขอลดค่าบริการต่างๆ (แผนภูมิ 7) หากแต่ ในการใช้ประโยชน์จากระบบนี้ จำเป็นต้องดำเนินขั้นตอนบางอย่าง ณ เคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาว กรุณาขอคำแนะนำปรึกษาจาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือดูแล (Care manager) หรือเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ระบบประกันการดูแลระยะยาว

[แผนภูมิ 7] ตัวอย่างของการที่ผู้ป่วยใช้ประโยชน์จากระบบการขอลดค่าบริการต่างๆ:
  • ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนมาก เนื่องจากรายได้ของผู้หารายได้หลักได้ลดลงอย่างมากด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ว่างงาน หรือต้องพักรักษาที่โรงพยาบาล
  • สมาชิกในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยแต่ต้องการใช้บริการการดูแลระยะยาวที่เกินกว่าวงเงินที่กำหนดไว้เนื่องจากโรคร้ายแรงที่รักษาได้ยาก และหรือภาวะสมองเสื่อม
  • ในบรรดาบริการการดูแลระยะยาวต่างๆ ที่จัดสรรโดยหน่วยงานสวัสดิการสังคม ผู้ป่วยจะใช้บริการการดูแลที่ครอบคลุมในกฎระเบียบว่าด้วยการขอลดยอดค่าใช้จ่าย
  • ผู้ถือบัตรช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ สำหรับผู้พิการขั้นรุนแรงจะใช้บริการต่างๆ ที่ครอบคลุมในกฎระเบียบว่าด้วยการขอลดยอดค่าใช้จ่าย
  • ผู้ถือบัตรผู้รอดชีวิตจากระเบิดอะตอมจะใช้บริการต่างๆ ที่ครอบคลุมในกฎระเบียบว่าด้วยการขอลดและยกเว้นค่าใช้จ่าย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือดูแล (Care manager) มีบทบาทหน้าที่อย่างใดบ้าง

"Care manager" หมายถึง ผู้ที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นบุคคลที่คุณสมบัติในการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย เกี่ยวกับการดูแลระยะยาว และคอยให้การช่วยเหลือ และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับการเข้าใช้บริการการดูแลระยะยาว เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์จากบริการการดูแลระยะยาวที่มีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้ป่วยแต่ละคนจำเป็นต้องมีการวางแผนการใช้บริการการดูแลระยะยาว (แผนการดูแล) โดยในการจัดทำแผนนี้ จำเป็นต้องประกอบด้วยข้อมูลที่ครอบคลุมและลงรายละเอียด ตลอดจนระบุเรื่องความเฉพาะทางของบริการที่ต้องการรับการดูแลระยะยาว Care manager จะปฏิบัติหน้าที่ประจำตามศูนย์ดังกล่าว ในฐานะที่เป็นสำนักงานช่วยเหลือดูแลตามบ้าน หน่วยงานระบบประกันการดูแลระยะยาว และศูนย์ช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จที่มีชุมชนเป็นฐาน

ศูนย์ช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จที่มีชุมชนเป็นฐานทำหน้าที่อะไรบ้าง

ศูนย์นี้เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาระดับท้องถิ่น คอยให้ความช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จแก่ผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นอิสระในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ร่วมมายาวนาน ส่วนงานเทศบาลจะรับผิดชอบในการกำกับดูแลศูนย์เหล่านี้ โดยทั้งศูนย์และบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมจะได้รับมอบหมายอำนาจจากเทศบาลให้ดำเนินการต่างๆ ได้ ศูนย์เหล่านี้มีหน้าที่ในการสรรหา ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ประกอบด้วย Care manager ระดับหัวหน้างาน พยาบาลสาธารณสุข ผู้ให้คำปรึกษารายกรณี และอื่นๆ เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะปฏิบัติงานร่วมกันในการให้คำแนะนำ ปรึกษาและให้การช่วยเหลือ สนับสนุนในด้านต่างๆ

ศูนย์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นหน่วยให้คำปรึกษา ด้านบริการต่างๆ เช่น การใช้บริการการดูแลเชิงป้องกัน การแก้ต่างด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อผู้สูงวัย และการดูแลระยะยาว ตลอดจน การบริหารจัดการทางการเงิน

ระบบสวัสดิการสังคม

PageUP